ความไม่รู้จัก “ธรรมญาณ” ของตนเองก่อให้เกิดความหลงอย่างร้ายแรงกลายเป็นอวิชชาสร้างภพสร้างชาติวนเวียน เกิด-ตาย ไม่สิ้นสุด
ตัวเร่งที่ก่อให้เกิดความหลงนั้นคือ ตัณหาความทะยานอยากไม่ว่าจะเป็นความสุข ความดี ความดัง ความรวย ล้วนเป็นตัวที่ทำให้ “จิต” ของคนหลงวนเวียนติดยึดอยู่กับสิ่งเหล่านี้และเป็นปัจจัยทำให้มี “อาการเกิด” ไม่สิ้นสุด
ผู้ฝึกนั่งสมาธิพอนิ่งสงบเกิดความสุขล้วนติดยึดกับความสุขนั้นและเพราะเกิดความอยากเห็นสวรรค์ นิพพาน นรก จิตจึงเนรมิตให้ตนเองได้พานพบ แต่เพราะขาดปัญญาญาณพิจารณาโดยสัจธรรมจึงหลงคิดว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน
ตัวอุปาทานความติดยึดจึงสำแดงเดช ยึดเอาสวรรค์นิพพานเป็นที่หมาย พอเกิดทุกข์นั่งหลับตาไปนิพพาน หนีความทุกข์ได้ทุกครั้งไป
ความหลงเช่นนี้ไม่มีใครสามารถแกะออกมาได้เลย ถ้ามิได้ใช้ปัญญาของตนพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม
เหตุใดคนเหล่านี้จึงมิได้ใช้ปัญญา เพราะอุปาทานบดบังปัญญาเสียสิ้น
ปัญญาจึงไม่อาจแยกแยะให้เห็นชัดในเหตุปัจจัยทั้งปวงที่จิตได้ก่อขึ้นด้วยความหลงผิด
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่ติดยึดในมิจฉาสมาธิล้วนเป็นผู้ท่ได้สั่งสมเอาไว้แล้วในชาติปางก่อน กลายเป็นจริตที่ติดจิตญาณมาจนแกะไม่ออก
ชาติที่แล้วก็นั่งหลับตาภาวนาเป็นฤาษี
ชาตินี้เกิดมาก็ยังคงนั่งหลับตาภาวนาเป็นผู้ถือศีล
ปฏิบัติอย่างนี้ชาติแล้วชาติเล่าหาได้ไปถึงไหนไม่ เพราะไม่อาจค้นพบจุดกำเนิดที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นจึง เกิด-ตาย ไปเรื่อยๆ
แต่พระพุทธองค์ทรงค้นพบสิ่งที่ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการตาย
การค้นพบเช่นนี้มิได้แต่เฉพาะการใช้ปัญญาญาณเท่านั้น
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ว่า
“อาจารย์สอนกัมมัฏฐานบางคน สอนศิษย์ของตนเองให้เฝ้าระวังจิตของตนให้นิ่งเงียบ ถึงกับว่าหมดความเคลื่อนไหวเป็นไปของจิตเอาเสียทีเดียว เมื่อเป็นดังนั้น พวกศิษย์ก็พากันเลิกถอนการระดมกำลังจิตเสียสิ้นเชิง คนหลงผิดเหล่านี้พากันฟั่นเฟือน เนื่องจากมีความเชื่อถือในคำแนะนำนั้นเกินไป”
ความหมายแห่งพระวจนะนี้น่าจะชัดเจนว่าการกำหนดให้จิตของตนนิ่งเงียบปราศจากความเคลื่อนไหวนับเป็นหนทางแห่งความหลงผิดโดยแท้เพราะตัวการของจิตคือ “ธรรมญาณ” มิได้มีหน้าที่ใช้ปัญญาซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์เลย เพราะไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวของ “จิต” ว่าดีหรือชั่ว มีกิเลสหรือไม่มี
กำลังของจิตญาณคือ การใช้ความคิดซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติและเราเรียกกันว่าปัญญาโดยตัวของมันเองแล้วมีพลานุภาพที่สามารถตัดขาดจากกิเลสทั้งปวงได้
แต่เพราะมันถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ มันจึงไร้อานุภาพโดยสิ้นเชิงเหมือนถูกกักขังเอาไว้
สภาวะดั้งเดิมของ “ธรรมญาณ” มีความเงียบสงบอยู่แล้วแต่การขยับตัวของธรรมญาณ จึงกลายเป็น “จิต” ที่เกิดความคิดอ่านในขณะเดียวกันคุณลักษณะของธรรมญาณ คือมีปัญญาแยกแยะ
แต่สภาวะแห่งจิตนั้นกระสับกระส่ายวิ่งวนมิอยู่นิ่ง การบังคับให้ต้องอยู่นิ่งๆ จึงเป็นการหลงคิดว่าเป็นความว่าง แท้ที่จริงมิใช่ความว่างตามธรรมชาติแห่ง “ธรรมญาณ”
เมื่อ “จิต” อยู่นิ่งไม่เป็น ความคิดฟุ้งซ่านจึงเกิดขึ้นและสามารถสร้างสรรค์ไปทั้งในทางดีและร้ายได้เสมอกัน
เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายไม่สิ้นสุดว่า
ความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิด ความคิดปรุงแต่ง
ความคิดปรุงแต่งจึงเป็นเหตุให้เกิด วิญญาณความรับรู้
วิญญาณความรับรู้จึงเป็นเหตุให้เกิดนามรูป
นามรูปจึงเป็นต้นเหคุให้เกิด อายตนะหก หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะหกจึงเป็นเหตุให้เกิดสัมผัส
เมื่อสัมผัสแล้วจึงเป็นเหตุให้เกิด อารมณ์
อารมณ์จึงเป็นเหตุให้เกิดความอยากและตัณหา
ตัณหาจึงเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน
อุปาทานจึงเป็นเหตุให้เกิดภพ
ภพจึงเป็นเหตุให้มีความเกิดคือชาติ
เมื่อมีการเกิด จึงเป็นเหตุให้ แก่
แก่แล้วจึงถึงซึ่งความตาย
เมื่อความตายมาถึงจึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์โศก เสียใจ และเพราะเสียใจคับแค้นใจจึงกลายเป็น “ความไม่รู้” และเริ่มต้นเวียนวนไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นทะเลทุกข์ที่ท่องกันไปชาติแล้วชาติเล่า
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ท่านจึงกล่าวเตือนไว้ว่า
“ความหลงผิดเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่มีอยู่ทั่วไปและมีมานานแล้ว และจึงถือเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงที่สอนให้ผู้อื่นระวังจิตขิงตนให้นิ่งเงียบ”
Leave A Comment