ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 3 วันที่ 12 ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2527)พระพุทธจี้กง ประทับทิพยญาณ
ได้ยินแต่ เขาเล่าว่า เขาเล่ามา พาฉงน
ได้ยินคน เขาเล่ามา เราก็ว่า ไปตามเขา
ไม่ไตร่ตรอง หาเหตุผล ถูกหรือผิด ก็เหมือนเรา-
เป็นคนบอด คลำช้างเข้า แต่คิดว่า ไม่ใช่หมู ก็คงกวาง
พุทธจี้กง : คนที่เคยกินลูกบ๊วยจึงสามารถเข้าใจรสเปรี้ยวของลูกบ๊วย ถ้าหากไม่เคยกินลูกบ๊วย เพียงแค่ฟังคนอื่นเขาพูดก็เหมือนกับคนตาบอดคลำช้างที่รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น การสวดพุทธนามก็เช่นกัน ตัวเองจะต้องไปสัมผัสรับรู้ด้วยตัวเอง จึงสามารถเข้าใจถึงข้อดีของการสวดพุทธนาม ถ้าหากเพียงแค่ฟังคนอื่นเขาพูดก็มักจะทำให้เกิดความสงสัย
ไฉ้เซิง : พระอาจารย์ครับ ! ถ้าหากว่าสวดพุทธนามบ่อยๆเป็นปกติ แต่ยังคงเกิดความคิดฟุ้งซ่านเพ้อฝันขึ้นมากมาย อย่างนี้ควรทำอย่างไรครับ ?
พุทธจี้กง : ถ้าหากคนที่สวดพุทธนามยังคงเกิดความคิดฟุ้งซ่านเพ้อฝันขึ้นมากมาย อย่างนี้แสดงว่าตัวเองมีกัมมาวรณ์หนัก จะต้องสร้างบุญสร้างกุศลให้มากๆ บางทีอาจจะต้องสำนึกขอขมากรรมด้วย แต่ว่าการสำนึกขอขมากรรมไม่ใช่เพียงแค่รายงานความผิดบาปของตนต่อเบื้องหน้าเซียนพุทธะเท่านั้น การสำนึกขอขมากรรมจะต้องสำนึกออกมาจากจิตใจของตัวเองอย่างแท้จริง มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่จะไม่ทำความผิดซ้ำอีกตลอดไป จึงจะเป็นการสำนึกขอขมากรรมที่แท้จริง ก็เหมือนกับตัวเองได้หยิบดาบแห่งปัญญามาตัดกิเลสและอวิชชาทิ้งไป นี่จึงเป็นการสำนึกขอขมากรรมอย่างแท้จริง และเหมือนกับว่านับจากนี้เป็นต้นไปได้จุดตะเกียงแห่งปัญญาขึ้นในใจของตัวเองส่องสว่างทำลายความมืดมิดในมุมบอดให้สิ้นไป นี่ก็คือการสำนึกขอขมากรรมที่แท้จริง เหมือนดั่งคำกล่าวที่ว่า “หนึ่งดวงประทีปสามารถส่องสว่างขจัดความมืดมนอนธการที่มีมายาวนานนับพันปีได้” ดังนั้นคนเราอย่าได้กลัวว่าตัวเองมีกัมมาวรณ์หนัก กลัวเพียงแต่ว่าตัวเองจะไม่สามารถยกระดับปัญญาของตัวเองให้สูงขึ้นได้ ไม่ต้องกลัวว่าบำเพ็ญธรรมนั้นยากจะบำเพ็ญได้สำเร็จ กลัวเพียงแต่ว่าจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงของตัวเองนั้นยังมีไม่มากพอ และไม่ต้องกลัวว่าสวดพุทธนามแล้วจะได้ไปเกิดแดนสุขาวดีหรือไม่ กลัวเพียงแต่ว่าจิตศรัทธาเชื่อมั่นของตัวเองนั้นยังมีไม่เพียงพอ
ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามพระอาจารย์ ทำอย่างไรจึงจะสามารถมีจิตหนึ่งใจเดียวในการสวดพุทธนามครับ ?
พุทธจี้กง : ต้องการสวดพุทธนามให้บรรลุถึงระดับที่มีจิตหนึ่งใจเดียวในการสวด จะต้องเอาคำว่า “นาโม อาหมีถัวฝอ” ตราไว้ในดวงจิต น้ำเสียงที่สวด “นาโม อาหมีถัวฝอ” ต้องสวดออกมาให้มีความชัดเจน เสียงสวด “นาโม อาหมีถัวฝอ” ที่ฟังเข้าไปในหูก็ต้องชัดเจน เช่นนี้จึงสามารถทำให้ ใจ ปาก ความคิด รวมเป็นหนึ่ง ได้มาตรฐาน 3 กรรมสะอาดบริสุทธิ์ ค่อยๆเข้าสู่สภาวะของ “จิตหนึ่งใจเดียวสวดพุทธนาม จิตหนึ่งใจเดียวคือพุทธะ”
ไฉ้เซิง : ขอถามพระอาจารย์ ควรสวดอย่างไรจึงจะเหมาะสมกว่ากันครับ ระหว่างสวดว่า “อาหมีถัวฝอ” กับสวดว่า “นาโม อาหมีถัวฝอ”
พุทธจี้กง : “นาโม” คำนี้ หมายถึง การนอบน้อมยึดเป็นที่พึ่ง ก็คือการเอาชีวิตและร่างกายของตัวเองทั้งหมดมอบให้พระพุทธะ ดังนั้นสวดว่า “นาโม อาหมีถัวฝอ” จึงมีความเคารพกว่า เอาล่ะ ! ได้เวลาแล้ว เตรียมออกเดินทางกันเถอะ
ไฉ้เซิง : ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้
พุทธจี้กง : ศิษย์เรา หากเจ้ายังมีคำถามอะไรสงสัยอีก เดี๋ยวรอให้ถึงแดนสุขาวดีแล้วเจ้าค่อยถามพระโพธิสัตว์ก็แล้วกัน
ไฉ้เซิง : ครับ
พุทธจี้กง : ใกล้ถึงแดนสุขาวดีแล้ว เบื้องหน้านั่นมีพระโพธิสัตว์มารับแล้ว ศิษย์เรา เจ้ารีบกราบพระโพธิสัตว์สิ
ไฉ้เซิง : ผู้น้อยกราบคารวะพระโพธิสัตว์
โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี เชิญลุกขึ้นเถิด
ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์เมตตา พระโพธิสัตว์โปรดชี้แนะ ถ้าหากชาวโลกต้องการสวดพุทธนามเพื่อมาเกิดแดนสุขาวดี ใช่หรือไม่ว่าจะต้องนับถือศาสนาพุทธ กราบไหว้พระธรรมาจารย์ในศาสนาพุทธเป็นอาจารย์
โพธิสัตว์ : แน่นอนเมธี ผู้ที่ต้องการสวดพุทธนามเพื่อมาเกิดแดนสุขาวดี ย่อมจะต้องนับถือศาสนาพุทธ ยึดศาสนาพุทธเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว กราบไหว้อาจารย์เพื่อศึกษาพุทธธรรม รักษาศีลห้า เว้นจากการฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม การพูดปด และการเสพสิ่งมึนเมา เช่นนี้จึงเป็นเหตุผลที่สมควร
ไฉ้เซิง : แล้วถ้าหากว่าไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เพียงแค่อยากสวดพุทธนามเพื่อมาเกิดแดนสุขาวดีได้ไหมครับ ?
โพธิสัตว์ : ถ้าหากไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่มีจิตใจที่ดีงาม น้อมประพฤติปฏิบัติตามกุศลความดีทั้งหลาย ไม่ทำเรื่องผิดบาปอกุศลทั้งปวง มีจิตหนึ่งใจเดียวสวดท่องพุทธนาม ก็ยังคงสามารถได้รับการต้อนรับและนำพามาเกิดแดนสุขาวดีจากพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลายอยู่ดีนั่นแหละ
ไฉ้เซิง : มีบางธรรมวิถีที่ประกาศว่า “จิตคือพุทธะ พุทธะคือจิต” ความคิดเช่นนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่
โพธิสัตว์ : ถึงแม้จะมีบางธรรมวิถีที่ประกาศว่า “จิตคือพุทธะ พุทธะคือจิต” แต่เวไนยในยุคท้ายมีกัมมาวรณ์หนัก ด้วยเหตุนี้เลยกลายเป็น “จิตไม่ใช่พุทธะ พุทธะไม่ใช่จิต” ไปเสียแล้ว ดังนั้นความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดเพ้อเจ้อเพ้อฝันจึงเกิดขึ้นพร้อมๆกัน หากสามารถมีจิตหนึ่งใจเดียวสวดท่องพุทธนาม เก็บความคิดที่ฟุ้งซ่านทั้งหลายกลับคืนสู่ความคิดเดียว ทุกความคิดมีแต่ “อาหมีถัวฝอ” เช่นนี้แล้ว หนึ่งคนสวดพุทธนาม หนึ่งคนก็สำเร็จพุทธะ หมื่นคนสวดพุทธนาม หมื่นคนก็สำเร็จพุทธะ การสวดพุทธนามเดิมทีก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครร่ำรวย สูงศักดิ์ ยากจน ต่ำต้อย โง่เขลา ซึ่งตรงกับที่กล่าวว่า “ทุกคนยินดีปรีดิ์เปรมกันถ้วนหน้า” ไม่ใช่หรือ ?
ไฉ้เซิง : ถ้าหากไม่ได้กินเจสามารถสวดพุทธนามได้หรือไม่ ?
โพธิสัตว์ : ได้สิ
ไฉ้เซิง : แต่ผู้น้อยอยู่ในร้านอาหารเจเห็นในคัมภีร์ “เหตุต้นผลกรรม 3 ชาติ” มีอยู่หน้าหนึ่งเขียนว่า “เหตุใดชาตินี้จึงกระอักเลือด เป็นเพราะว่าชาติก่อนกินเนื้อท่องพระสูตร” อย่างนี้จะอธิบายว่าอย่างไร ?
โพธิสัตว์ : นั่นเขาหมายถึงคนที่ออกบวช เพราะว่าชายที่ออกบวชเป็นภิกษุ (ในมหายาน) จะต้องถือศีล 250 ข้อ หญิงที่ออกบวชเป็นภิกษุณี (ในมหายาน) จะต้องถือศีล 500 ข้อ ดังนั้นคนที่ศึกษาพุทธธรรมอยู่ที่บ้านโดยไม่ได้ออกบวชจึงไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของเงื่อนไขนี้ แต่เพื่อเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความเคารพที่เรามีต่อพระพุทธะ ดีที่สุดก็ควรบ้วนปากให้สะอาดก่อนที่จะสวดพุทธนาม
ไฉ้เซิง : งั้นคนที่สวดพุทธนามโดยที่ไม่ได้กินเจก็สามารถมาเกิดยังแดนสุขาวดีได้ใช่ไหมครับ ?
โพธิสัตว์ : ประเภทนี้คือการนำกรรมติดตัวมาเกิด ดีที่สุดคือสามารถละเว้นจากการฆ่า หรืออาจจะกินเพียงเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง
ไฉ้เซิง : อย่างไรเรียกว่า เนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง ?
โพธิสัตว์ : เนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ 1. เนื้อที่เราไม่ได้เห็นตอนที่เขากำลังฆ่า 2. เนื้อที่เราไม่ได้ยินเสียงตอนที่เขากำลังฆ่า 3. เนื้อที่เขาไม่ได้เจาะจงฆ่าเพื่อเอามาให้เรากิน นี่ก็คือเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง แต่ถ้าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยก็สามารถยกระดับขึ้นอีกขั้นโดยการกินเจแบบเฉพาะกาล
ไฉ้เซิง : ใช่หรือไม่ว่ากินเจตอนมื้อเช้า ?
โพธิสัตว์ : ใช่ ! คนสวดพุทธนามที่เพิ่งจะเริ่มฝึกกินเจ สามารถเริ่มต้นฝึกกินเจในตอนมื้อเช้าก่อน หรืออาจจะกินเจแบบ 6 วัน กินเจ 6 วันก็คือ วันที่ 8 , 14 , 15 , 23 , 29 , 30 ของทุกเดือน (ในที่นี้หมายถึงเดือนตามจันทรคติของจีน) ถ้าหากเดือนไหนเป็นเดือนเล็ก (เดือนเล็กคือเดือนที่มีแค่ 29 วัน) ก็เปลี่ยนจากกินเจวันที่ 29 , 30 มาเป็นวันที่ 28 ,29 แทน
ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามพระโพธิสัตว์ อย่างนี้จะจำยากเกินไปหรือป่าวครับ ?
โพธิสัตว์ : จำไม่ยากหรอก เพราะว่าวันที่ 8 เป็นคืนจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น พระจันทร์มีลักษณะเสี้ยวดั่งคันธนู เรียกว่า “จันทร์เสี้ยวข้างขึ้น” วันที่ 14 , 15 เป็นคืนจันทร์เพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง วันที่ 23 เป็นคืนจันทร์เสี้ยวข้างแรม พระจันทร์มีลักษณะเสี้ยวดั่งคันธนู เรียกว่า “จันทร์เสี้ยวข้างแรม” วันที่ 29 , 30 เป็นคืนจันทร์ดับ ถ้าหากกินเจ 6 วันจนเคยชินแล้วและสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ก็สามารถยกระดับขึ้นอีก เปลี่ยนเป็นกินเจแบบ 10 วัน กินเจแบบ 10 วัน ก็คือกินเจแบบ 6 วัน แต่เพิ่มวันที่ 1 , 18 , 24 , 28 เข้ามาอีก 4 วัน ก็กลายเป็นกินเจแบบ 10 วันแล้ว
(เนื่องจากวันที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นวันที่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน หากท่านผู้อ่านดูปฏิทินจีนไม่เป็น ท่านสามารถปรับใช้ให้เข้ากับปฏิทินจันทรคติของไทยได้ ดังนี้คือ วันที่ 8 , 14 , 15 , 23 , 29 , 30 ตามจันทรคติจีน เมื่อเทียบกับวันที่ตามจันทรคติไทยจะเป็น วันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ แรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ส่วนอีก 4 วันที่เหลือ คือวันที่ 1, 18 , 24 , 28 ถ้าเทียบกับวันไทยก็คือ วันขึ้น 1 ค่ำ และวันแรม 3 ค่ำ แรม 9 ค่ำ แรม 13 ค่ำ)
ไฉ้เซิง : ได้รับความกรุณาจากพระโพธิสัตว์ที่เมตตาพร่ำสอน ผู้น้อยซาบซึ้งพระคุณยิ่งนัก
โพธิสัตว์ : พระอมิตาภพุทธเจ้าของพวกเราเห็นเวไนยนับวันจะยิ่งเขลาหลงหนักขึ้นทุกวัน ไม่เชื่อในเหตุต้นผลกรรม ไม่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธธรรม ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง สำนักธรรมของชาวหลวนเหมินได้ก่อตั้งขึ้น ธรรมวิถีแบบสะดวกของชาวหลวนเหมินได้ทำการปกโปรดฉุดช่วยอย่างกว้างขวาง และสามารถฉุดช่วยคนได้นับไม่ถ้วน เรารู้ว่าเจ้าเองก็ไม่ได้บำเพ็ญในธรรมวิถีแห่งแดนวิสุทธิภูมิสุขาวดีนี้ แต่ด้วยพลังปณิธานอันยิ่งใหญ่ของเจ้า ดังนั้นครั้งนี้เจ้าจึงสามารถได้รับพระโองการให้มาประพันธ์หนังสือที่นี่ ก็หวังว่าเจ้าจะเป็นพยานบุคคลซึ่งเป็นประจักษ์พยานให้กับแดนสุขาวดีแห่งนี้
ไฉ้เซิง : ที่แท้เป็นเช่นนี้เอง ขอขอบคุณพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ให้โอกาสแบบนี้กับผู้น้อย หวังว่าหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ประพันธ์เสร็จแล้ว ทุกๆคนจะสวดพุทธนาม ทุกๆคนจะสามารถสำเร็จเป็นพุทธะ
โพธิสัตว์ : งั้นก็ดียิ่งแล้ว
ไฉ้เซิง : แต่ว่าการบำเพ็ญปฏิบัติของธรรมวิถีอื่นๆนั้นก็ไม่เลวเช่นกัน
โพธิสัตว์ : หนทางในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมของธรรมวิถีอื่นๆต่างก็ล้วนดีทั้งนั้น แต่ว่าบางธรรมวิถีไม่ใช่ว่าคนที่มีปัญญาตื้นเขิน มีอินทรีย์ไม่แก่กล้าจะสามารถบำเพ็ญได้สำเร็จ มีเพียงธรรมวิถีแห่งแดนวิสุทธิภูมิสุขาวดีที่ปกโปรดอย่างกว้างขวางที่สุด สามารถอนุเคราะห์รากบุญทั้ง 3 ระดับ ฉุดช่วยทั้งเวไนยผู้มีปัญญาทึบและเวไนยผู้มีปัญญาเฉียบแหลมกลับคืนไปอย่างเสมอภาคกัน
ไฉ้เซิง : จริงหรือครับ ?
โพธิสัตว์ : เจ้าดูสิ ชีวิตคนแสนจะสั้น ถ้าหากผู้บำเพ็ญธรรมไม่รู้จักรักษาโอกาสไว้ให้ดีๆ เมื่อสูญเสียร่างกายของมนุษย์นี้ไปเพียงครั้งเดียว การที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการได้เกิดมามีร่างกายเป็นมนุษย์นั้นคือของยาก
ไฉ้เซิง : ใช่ไหมครับว่ายังบำเพ็ญไม่ทันสำเร็จก็ตายซะก่อน
โพธิสัตว์ : ถูกต้อง
ไฉ้เซิง : แต่ว่าสวดพุทธนามแล้วสามารถได้มาเกิดแดนสุขาวดีจริงๆเหรอครับ ?
โพธิสัตว์ : เมธี ! เหตุใดเจ้าจึงได้มีความคลางแคลงใจมากเช่นนี้ เจ้าต้องรู้นะว่าจะได้มาเกิดแดนสุขาวดีหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปณิธานและความเชื่อมั่นของผู้สวดพุทธนามเอง มีปณิธานและความเชื่อมั่นก็ได้มาเกิด หากไร้ปณิธานและความเชื่อมั่นก็ไม่ได้มาเกิด จะได้เกิดในดอกบัวระดับสูงหรือต่ำลงมา ทั้งหมดก็อยู่ที่ตัวของผู้สวดเองว่าบำเพ็ญได้ระดับไหน
ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์ที่ช่วยอธิบายให้ตื่นแจ้ง
โพธิสัตว์ : เมธี ! เจ้ารู้หรือไม่ว่า สวดพุทธนามก็คือตื่นแจ้ง ?
ไฉ้เซิง : คืออย่างไรครับ อธิบายให้ฟังหน่อย
โพธิสัตว์ : ขอเพียงได้มาเกิดที่แดนสุขาวดี ก็ไม่มีหรอกที่จะไม่ตื่นแจ้ง
ไฉ้เซิง : คืออย่างไรครับ ?
โพธิสัตว์ : เพราะว่าสภาพแวดล้อมของแดนสุขาวดีนั้นมีความประเสริฐยิ่งนัก ทุกๆวันได้ฟังพุทธธรรม ทุกๆวันได้บำเพ็ญฝึกฝนพุทธธรรมร่วมกับพระโพธิสัตว์และมหาสัตบุรุษทั้งหลาย มีหรือที่จะไม่ตื่นแจ้ง
พุทธจี้กง : เอาล่ะ ! ได้เวลาแล้ว ศิษย์เรารีบกราบลาพระโพธิสัตว์สิ
(ไฉ้เซิงกราบลาพระโพธิสัตว์ พระพุทธจี้กงพาไฉ้เซิงมาโผล่ที่เซิ่งเทียนถังในชั่วพริบตา)
พุทธจี้กง : ถึงเซิ่งเทียนถังแล้ว ไฉ้เซิงลงจากบัลลังก์บัว วิญญาณกลับเข้าร่าง