พระโพธิสัตว์กวนอิม
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์เคยตรัสว่า “ในโลกียโลก การหยุดอยู่หรือเคลื่อนไหวความคิดของเหล่าเวไนยสัตว์ล้วนเป็นกรรม” วิธีทางเดินหกช่องของเหล่าเวไนยสัตว์ ล้วนเป็นความหลงอาลัยอาวรณ์ต่าง ๆที่ผ่านมา ตลอดจนการเกิดในปัจจุบันชาติและอนาคตชาติ เพราะแรงกรรมร้อยรัดโดยยึดเอาสภาวะภายนอก เพราะฉะนั้นจึงไม่ตัดขาดหรือนึกเสียใจภายหลัง จึงต้องตกยอู่ในวัฏฏสงสารสืบต่อกันไป ดังนั้น ผู้ฝึกเรียนพุทธธควรสำนึกบาปกรรมที่ทำมานั่นคือ “รู้ผิด” และ “แก้ไข” จึงจะสามารถย้อนกลับมาสดับรับฟังจิตตน คนที่ไม่รู้ว่าผิดก็จะเอาความผิดมาเป็นความถูกต้อง จะสามารถหรือที่เจะเข้าถึงธรรมที่บำเพ็ญ
คำกล่าวที่ว่า “อย่าเห็นบาปเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าไม่เป็นโทษอะไร หยดน้ำแม้หยดเล็ก ๆ ก็ค่อย ๆ เต็มภาชนะใหญ่ได้” ชาวโลกเพราะสั่งสมกรรมต่าง ๆ มายาวนานจึงปิดบังจิตเดิม สันดานก็ยังคงฝังลึก ยังคงกล่าวโทษมาก มีโทสะมาก อิจฉาเกลียดชังมาก ระแวงสงสัยมาก ถึงแม้อริยเจ้าจะให้วิทยาทานเป็นพุทธธรรมที่ล้ำเลิศก็ตาม ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึง ถึงแม้จะอยู่ใกล้พระธรรมาจารย์ หูได้ยินได้ฟังธรรม หรือธรรมเทศนาก็ตาม เป็นเพราะจิตใจยังไม่ได้ชำระให้สะอาด และใจก็ยังไม่รู้สำนึกบาป ดังนั้น ต่อให้ธรรมาจารย์แสดงหลักแยบยลมีความหมายดียิ่งก็ตาม สุดท้ายก็หมดหนทางที่จะเข้าใจหลักธรรมหรือทะลุแจ้งได้ เมื่อไรก็ตามถ้าพบอุปสรรค ถูกมารทดสอบ ก็จะกล่าวร้าย คิดร้ายรู้สึกสับสนตลอดจนขาดธรรม โดยไม่สามารถพัฒนาปัญญาที่มีอยู่เดิมได้ เป็นการสิ้นเปล่าในการฝึกเรียนพุทธะ ขาดบุญบารมี ตนเองหมดแรงที่จะไปพิจารณาฝึกบำเพ็ญ และประจักษ์ธรรม เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
บุตรผู้บำเพ็ญหากคิดที่จะสำเร็จพุทธมรรค ได้รับธรรมแยบยลควรต้องบำเพ็ญบุญบารมีจริงจัง สำรวจตนเอง กรรมที่ทำได้แก้ไขหรือไม่ แสวงความก้าวหน้าตลอดเวลา มีใจศรัทธา ละทิ้งการยึดถือในตัวตน ละทิ้งความหยิ่งผยอง จึงจะสามารถดำเนินควบคู่ไปกับพุทธะเพื่อเข้าถึงที่สุด คนหมู่มากมักมองตรงออกไปภายนอกโดยไม่มีทางมองกลับมาที่ตนเอง ดังนั้นจึงมักคิดว่าตนถูกต้องแล้ว หมดหนทางที่จะแก้ไขกายใจให้ดีไม่ได้ หากมีอาจารย์ผู้รู้แจ่มชัดในเรื่องที่ผ่านมา ให้คำตักเตือนชี้แจงให้เห็นจริง อย่างไรเสียเขาก็ยังไม่สามารถที่จะยอมรับเรื่องที่ผ่านมาของตน หรือยอมรับคำสั่งสอนชี้แนะของอาจารย์ได้
มนุษย์หากสำรวจรู้ถึงความผิดของตน เอาสายตาส่องสำรวจตัวเองเสมือนยืมกระจกเงาส่องตนเอง ส่องเห็นความผิดที่ผ่านมาแล้วแก้ไขความผิดให้เป็นความดี ก็จะเป็นการช่วยการบำเพ็ญธรรม ให้ประโยชน์เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนกับรูเล็ก ๆ ที่ไม่อุด หรือกายที่เกิดฝีร้าย หากใจปล่อยปละไม่ขจัดหนองออกทิ้ง ปล่อยให้ฝีร้ายกลายเป็นผลร้าย ในที่สุดก็เป็นการตัดทอนชะตากรรม จนหมดบุญวาสนา
ด้วยเหตุนี้ สภาวะต่าง ๆที่คนประสบหรือได้รับ ที่จริงเป็นเพราะตนเองสร้างขึ้นหรือแส่หามาเอง เหมือนเมล็ดพันธุ์เม็ดหนึ่งที่ปลูกลงดิน เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสม มันก็จะงอกเงยให้ผลที่ดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นมงคลหรือเลวร้าย ได้รับหรือเสียหาย ทุกข์หรือสุข เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าชาวโลกที่เห็นปรากฏสภาพต่าง ๆ นั้น ก็จะเห็นได้จากตนเองว่า เป็นความคิดที่ร้ายหรือดี บุตรผู้บำเพ็ญหากไม่จริงใจแก้ไข บำเพ็ญพุทธะและบุญบารมีถึงแม้จะอยู่ในสภาพธรรมก็เหมือนสูญเปล่า ว่าได้ชื่อว่าฝึกพุทธะ ไม่มีทางที่จะได้รับมรรคผล กายใจไม่สะอาดบริสุทธิ์
เนื่องด้วยกายนี้ติดนิสัยที่เคยชินมายาวนาน ย่อมได้รับการตอบรับจากวิญญาณที่คล้ายคลึงกัน เมื่อตายแล้วก็จะเข้าสู่วิญญาณที่ร่างกายเข้ากัน ทำให้สูญเสียกายมนุษย์ หากสามารถพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ระมัดระวังศีลเกรงกลัวบาป สำรวจตนอยู่ตลอดเวลา เอาใจเราเปรียบใจเขา ชำระล้างวาจาการกระทำของตนเองให้สะอาด ใจคิดคำนึงต้องสามารถพ้นจากนรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น อันเป็นกรรมตอบสนองของความชั่ว 3 ประการ
คุณธรรมโบราณว่า “ไม่กลัวว่าความคิดจะเกิด แต่กลัวว่าจะรู้สึกช้า" พื้นฐานของเหล่าเวไนยสัตว์ ต่างมีบุญบารมีไม่เหมือนกัน บ้างก็มีปัญญาน้อย บ้างก็เข้าถึงธรรมไม่ได้ บ้างก็ถนอมวิบากกรรมไว้ บุญกุศลไม่พอ บ้างก็เข้าใจได้ง่าย แต่ก็ปฏิบัติได้ยาก โดยที่มีกำลังแต่ยังไม่ถึงเวลา อันที่จริงแล้ว การบำเพ็ญที่สำคัญอยู่ที่ใจกระตือรือล้นไปยึดถือ มีจริงใจที่ไปสำนึกบาป มีวิริยะให้ก้าวหน้า ความรู้สึกตอบรับที่ดี ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของคนที่เจริญคุณธรรมรักษาความคิดให้สะอาด ต้องพึ่งพิงอาจารย์ที่รู้ดีที่นำเอาพุทธธรรมมาสั่งสอนให้เกิดปัญญา หากได้ปฏิบัติโดยไม่ขาดตอน ในที่สุดย่อมเข้าถึงเป็นปัจจัตตังย่อมได้รับบุญปัญญาที่สว่าง จงขยันหมั่นเพียร