ครั้งที่ 4 ไฉ้เซิงเที่ยวสระบัว พระโพธิสัตว์อธิบายเรื่องสามทานและการดำเนินปฏิบัติ

ปีเจี๋ยจื่อ เดือน 2 วันที่ 25 ค.ศ.1984 (ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2527) พระพุทธจี้กง  ประทับทิพยญาณ

ไปๆมาๆ  อิสระเสรี   ไร้ร่องรอย

ดั่งเมฆลม เคลื่อนคล้อย เสรีไป ในแดนเซียน

ไม่ยึดติด จิตหลุดพ้น หากผู้ใด สามารถเลียน

ผู้นั้นกับ พุทธะเซียน จิตเดิมแท้ ไม่ต่างกัน

 

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ !  เพื่อประพันธ์หนังสือ  ช่วงนี้อาตมาก็มักจะอยู่ที่เซิ่งเทียนถังบ่อยๆ

ไฉ้เซิง : งั้นอย่างนี้เซิ่งเทียนถังก็กลายเป็นโรงแรมของพระอาจารย์ไปแล้ว

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ ! ใช่ !  พุทธสถาน  ศาลเจ้า  ก็คือโรงแรมของเซียนพุทธะ  ให้เซียนพุทธะได้พักอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น  ร่างกายของชาวโลกก็เปรียบเหมือนโรงแรมให้ใช้พักอาศัยเพียงชั่วคราวเช่นกัน

ไฉ้เซิง : โอ้ ! พระอาจารย์เปรียบเทียบได้ดีจริงๆ

พุทธจี้กง : ฮ่าๆ !  ชาวโลกรู้จักการพักโรงแรม  แต่ไม่รู้ว่ากายเนื้อของตัวเองก็คือโรงแรมของจิตญาณตัวจริงดวงนี้ของตน

ไฉ้เซิง : พระอาจารย์พูดได้ถูกต้อง  คนมีเงินก็พักโรงแรมชั้นสูงระดับคุณภาพ  คนเงินน้อยก็พักโรงแรมธรรมดา  ส่วนคนไม่มีเงินก็นอนตามป้ายรถเมล์หรือตามพื้นที่สาธารณะ

พุทธจี้กง : มีบุญมากก็ได้พักอาศัยอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง  มีบุญน้อยก็ได้พักอาศัยอยู่ในร่างกายที่เจ็บป่วย  มีบาปหนาก็ได้พักอาศัยอยู่ในร่างของสัตว์เดรัจฉาน

ไฉ้เซิง : คนร่ำรวยมีเงินก็ซื้อคฤหาสน์เป็นของตัวเอง  ส่วนคนจนที่ไม่มีเงินซื้อบ้านก็เช่าบ้านอยู่

พุทธจี้กง : เซียนพุทธะก็อยู่บนสวรรค์  วิญญาณบาปก็อยู่ในนรก

ไฉ้เซิง : ฮ่าๆ ! แยบยลๆ  พุทธสถาน  ศาลเจ้า  คือโรงแรมของเซียนพุทธะ  โรงแรมหรู  โรงแรมชั้นประหยัด  ก็คือโรงแรมของกายเนื้อ  ส่วนกายเนื้อก็คือโรงแรมของจิตญาณ

พุทธจี้กง : โรงแรมเป็นเพียงที่พักชั่วคราว  อย่าได้ยึดติด  คนมีเงินถ้าหากอยากซื้อคฤหาสน์  มิสู้ไปซื้ออยู่ที่แดนสุขาวดีจะดีกว่า  รับประกันว่าอยู่แล้วสบายกาย  สบายใจ  สบายอารมณ์  อยู่ได้ยาวนาน

ไฉ้เซิง : แล้วจะซื้ออย่างไรครับ ?

พุทธจี้กง : เดี๋ยววันนี้จะบอกเจ้า

ไฉ้เซิง : ครับ  ศิษย์นั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว  ขอเชิญพระอาจารย์ออกเดินทางได้

พุทธจี้กง : วันนี้พระโพธิสัตว์มารอรับเจ้าล่วงหน้าแล้ว  เจ้าก็ตามท่านไปเถอะ

ไฉ้เซิง : ครับ  งั้นศิษย์ขอตัวก่อน

(หลังจากที่ไฉ้เซิงกราบลาพระพุทธจี้กงแล้ว  ก็ทำการกราบคารวะพระโพธิสัตว์)

โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี  พวกเราออกเดินทางเถอะ

ไฉ้เซิง : ต้องรบกวนท่านพระโพธิสัตว์แล้ว

โพธิสัตว์ : ถึงสระบัวแล้ว  วันนี้เข้าชมที่สระบัวก็แล้วกัน

ไฉ้เซิง : ได้ครับ

โพธิสัตว์ : เมธี  เจ้ามองดูดอกบัวในสระสิ  บางดอกก็ดูสดใสเปี่ยมด้วยพลังแห่งชีวิต  บางดอกก็ดูเหมือนใกล้จะเหี่ยวเฉา  เจ้ารู้หรือไม่ว่าเพราะอะไร ?

ไฉ้เซิง : ไม่รู้ครับ

โพธิสัตว์ : งั้นเจ้ารู้หรือไม่ว่าการปลูกไม้ดอกต้องใส่อะไร  กิ่งก้านใบจึงจะเจริญงอกงาม

ไฉ้เซิง : ผู้น้อยคิดว่าจะต้องมีดินที่ดี  และได้ปุ๋ยที่ดี

โพธิสัตว์ : ถูกแล้ว  จะต้องมีดินที่ดี  มีปุ๋ยที่ดี  ถ้างั้นเพราะอะไรดอกบัวในสระถึงมีบางออกที่เจริญงอกงามดี  มีบางดอกที่ดูเหมือนเหี่ยวเฉาล่ะ ?  นั่นเป็นเพราะบางดอกได้สารอาหารที่ดี  ดูดซึมได้ดี  ดังนั้นจึงเจริญงอกงามดี  ส่วนบางดอกได้สารอาหารไม่ดี  การดูดซึมก็ไม่ดี  จึงดูไม่สดใส  สาเหตุก็เป็นเช่นนี้

ไฉ้เซิง : ขอเรียนถามพระโพธิสัตว์  จะทำอย่างไรให้สารอาหารดีและดูดซึมได้ดีครับ ?

โพธิสัตว์ : ถ้าอยากให้สารอาหารดี  ดูดซึมได้ดี  นอกจากมีจิตศรัทธาที่แน่วแน่มั่นคงแล้ว  ยังต้องตั้งจิตมุ่งมั่นมีแรงปณิธาน  ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ขาดจากกุศลมูล  และหมั่นสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอ  เมื่อครู่นี้ที่เจ้าพูดว่า  ปลูกไม้ดอก  จะต้องมีดินที่ดี  มีปุ๋ยที่ดี  กุศลมูลก็เปรียบเหมือนดินที่ดี  บุญกุศลก็เปรียบเหมือนปุ๋ยที่ดี  การดูดซึมสารอาหารก็เปรียบเหมือนใจและกายที่มีความมุ่งมั่นต่อการสวดพุทธนาม  ดังนั้นเวไนยทั้งหลายที่บังเกิดจิตปรารถนาอยากจะมาเกิดยังแดนพุทธภูมิของพวกเรา พึงมีจิตเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ฉุดช่วยผู้มีบุญสัมพันธ์ให้กว้างไกล  ในเมื่อวันนี้เจ้ามีบุญสัมพันธ์ได้ประพันธ์หนังสือแนะนำแดนวิสุทธิภูมิของพวกเราให้ชาวโลกได้รู้จัก  เชื่อว่าหลังจากที่หนังสือประพันธ์เสร็จ  คนที่ปรารถนาอยากจะมาเกิดยังแดนสุขาวดีจะต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน  พระอมิตาภพุทธเจ้าของพวกเรา รวมถึงพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็จะได้ไปรับคนมาเกิดที่แดนสุขาวดีเพิ่มมากขึ้น  แต่ถ้าหากหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ประพันธ์เสร็จแล้ว  แล้วไม่มีผู้ที่มีกุศลจิตมาช่วยพิมพ์หนังสือ ความทุ่มเทใจของพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลาย รวมถึงความทุ่มเทใจของศิษย์ในสำนักเซิ่งเทียนถังก็จะสูญเปล่า

ไฉ้เซิง : พระโพธิสัตว์กล่าวได้ถูกต้อง  ถ้าหากว่าชาวโลกสามารถช่วยพิมพ์หนังสือเล่มนี้กันมากๆ  มอบให้แก่ผู้ที่มีบุญสัมพันธ์  เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องสามารถฉุดช่วยคนได้นับไม่ถ้วน  แต่ว่าก็มีพวกอาจารย์ในศาสนาพุทธส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับหนังสือที่มาจากการประทับทรงเขียนกระบะทรายของผู้บำเพ็ญชาวหลวนเหมิน  พวกอาจารย์เหล่านี้ไม่แม้แต่จะชายตาแลมองหนังสือของทางหลวนเหมินด้วยซ้ำ  ที่ยิ่งไปกว่านั้นบางคนก็มักจะใส่ร้ายป้ายสีหนังสือธรรมะของหลวนเหมินอยู่เป็นประจำ

โพธิสัตว์ : ฮ่าๆ !  นั่นเป็นเพียงศิษย์สาวกเพียงส่วนน้อยเท่านั้น  ไม่สามารถพูดแบบเหมารวมยกเข่งได้  การใส่ร้ายโจมตีกันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในทุกศาสนา  เจ้าอย่าได้ท้อแท้ใจเพียงเพราะคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เลย

ไฉ้เซิง : ครับ

โพธิสัตว์ : เมื่อครู่นี้พูดถึงชาวโลกที่ปรารถนาจะมาเกิดยังแดนพุทธภูมิของพวกเราจะต้องไม่ขาดจากกุศลมูล และต้องหมั่นสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอ  กุศลมูลก็คือจิตที่มุ่งสู่กุศลความดี  หมั่นสร้างบุญสร้างกุศลก็คือการแสดงออกด้วยการให้ทาน  การให้ทานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.อามิสทาน  2.ธรรมทาน  3.อภัยทาน (คำว่า “ภัย” ในบาลี สันสกฤต แปลว่า ความกลัว  ส่วนคำว่า “อภัย” ในบาลี สันสกฤต แปลว่า ไม่กลัว โดยปกติคำว่า “อภัยทาน” ในทางเถรวาทหมายถึงการให้อภัย  ไม่จองเวร  การสละอารมณ์โกรธให้ขาดออกจากใจ แต่ความหมายของอภัยทานในหนังสือเล่มนี้ อาจมีความหมายที่ครอบคลุมไปถึง ทานที่ให้แล้วไม่เป็นภัย การให้ความไม่กลัวเป็นทาน การอุทิศความกล้าหาญเป็นทาน  หรืออาจจะรวมไปถึงการสละแรงกายเป็นทาน และอื่นๆอีกมากมาย เนื่องจากความหมายของคำว่าอภัยทานค่อนข้างกว้าง  ขึ้นอยู่กับการตีความ ผู้แปลไม่กล้าสรุปฟันธงจึงแปลคำนี้ออกมาตามรากศัพท์เดิมว่า “อภัยทาน” แล้วให้ผู้อ่านไปตีความกันเอาเอง) อามิสทาน ก็คือ การบริจาคเงินทองทรัพย์สิน  ธรรมทาน ก็คือ การแสดงธรรม ฉุดช่วยคน  อภัยทาน ก็คือ การปกป้องพุทธธรรมไม่ให้ใครมาทำลาย  ไปจนกระทั่งถึงการทุ่มเทอุทิศเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตตนโดยไม่เสียดาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้อื่นเข้าถึงธรรม  ในเมื่อวันนี้พระพุทธจี้กงและเมธีได้รับพระโองการให้ประพันธ์หนังสือท่องแดนสุขาวดีเล่มนี้  ในระหว่างช่วงที่ประพันธ์หนังสือเล่มนี้  ทั้งเทพและคนในเซิ่งเทียนถังต่างก็ได้ลิ้มรสชาติของความเหน็ดเหนื่อย  ความทุกข์ยาก  ความเจ็บปวดรวดร้าว  ความโหดร้าย  ต่างๆนานา  พระอมิตาภพุทธเจ้าของพวกเรามองดูเซิ่งเทียนถัง เห็นเทพและคนต่างทุ่มเทใจเพื่อเผยแพร่ส่งเสริมธรรมะให้เจริญรุ่งเรืองกว้างไกล  ไม่ว่าจะอุทิศทุ่มเทเสียสละอย่างไรก็ไม่เสียดาย  มีเงินออกเงิน มีแรงออกแรง  มีจิตอันเป็นกุศลเช่นนี้  ทำให้พระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลายต่างเลื่อมใสไม่หยุด  เพราะว่าในช่วงธรรมกาลยุคท้าย พวกเจ้าสามารถผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อฟื้นฟูพุทธธรรม  นี่ก็คือ “อภัยทาน” อย่างหนึ่ง

ไฉ้เซิง : พระโพธิสัตว์กล่าวชมเกินไปแล้ว  ผู้น้อยเพียงหวังว่าหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ประพันธ์เสร็จ  สาธุชนคนดีจากทั่วทุกสารทิศจะสามารถบังเกิดจิตที่ยินดีมาช่วยกันพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ฉุดช่วยกล่อมเกลาผู้มีบุญสัมพันธ์ โดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายโต้เถียงโจมตีซึ่งกันและกันต่อไปอีกเท่านั้นก็พอแล้ว

โพธิสัตว์ : เมธี ! พระอมิตาภพุทธเจ้าของพวกเรารู้ว่าเจ้าทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและพยายามอย่างเต็มที่  แต่เจ้าต้องเข้าใจว่าศาสนาพุทธได้แพร่หลายออกไปในหลายประเทศทั่วโลกอย่างกว้างขวาง  แค่เฉพาะนิกายมหายานนิกายเดียวก็มี 8 นิกายใหญ่  แล้ววิธีการบำเพ็ญปฏิบัติของแต่ละนิกายก็แตกต่างกัน  อย่างเช่นวิธีการบำเพ็ญปฏิบัติของนิกายฌานเป็นวิธีการบำเพ็ญปฏิบัติที่จะต้องอาศัยกำลังความสามารถของตัวเอง  นิกายฌานยังแบ่งเป็นการบำเพ็ญแบบค่อยเป็นค่อยไปกับการบำเพ็ญแบบตื่นแจ้งโดยฉับพลัน  ดังนั้นถึงแม้เป็นนิกายเดียวกันแต่ก็ยังมีแบ่งประเภท  แล้วนับประสาอะไรกับศาสนาพุทธที่มี 10 มหานิกาย 84,000 พระธรรมขันธ์  ดังนั้นมักจะมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้บำเพ็ญปฏิบัติในมหายานเยาะเย้ยดูถูกฝ่ายเถรวาท  ส่วนพวกเถรวาทก็ต่อต้านขับไล่พวกมหายาน  พวกที่บำเพ็ญแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ใส่ร้ายป้ายสีพวกที่บำเพ็ญแบบตื่นแจ้งโดยฉับพลัน  พวกที่บำเพ็ญแบบตื่นแจ้งโดยฉับพลันก็เอาพวกที่บำเพ็ญแบบค่อยเป็นค่อยไปมาล้อ  พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้บ้างก็มีเจตนาที่ดี  บ้างก็มีเจตนาที่ไม่ดี  เจตนาที่ดีก็คือเพื่อปกป้องนิกายของตัวเอง  เจตนาที่ไม่ดีก็คือโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อความสำเร็จของตนเอง  พฤติกรรมประเภทนี้เป็นการขัดต่อจุดประสงค์ของการเผยแพร่ศาสนาพุทธออกไปให้กว้างไกล

ไฉ้เซิง : ครับ !  ได้รับการชี้แนะจากพระโพธิสัตว์  ผู้น้อยรู้สึกขายหน้าเหลือเกิน  หวังว่าชาวโลกเมื่อได้ฟังคำพูดที่เปล่งออกมาจากความเมตตาของพระโพธิสัตว์แล้ว จะสามารถมีใจกว้าง  ขจัดความคิดที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทิ้งไป  อย่างนี้จึงจะถูกต้อง..........งั้นขอเรียนถามพระโพธิสัตว์  ถ้าหากชาวโลกช่วยพิมพ์หนังสือท่องแดนสุขาวดีเล่มนี้  จะถือว่าเป็นการให้ทานชนิดใด  อามิสทาน หรือ ธรรมทาน ?

โพธิสัตว์ : ผู้ที่ช่วยพิมพ์หนังสือธรรมะท่องแดนสุขาวดีเล่มนี้  ก็คือผู้ที่ดำเนินปฏิบัติทั้ง 3 ทานไปพร้อมกัน

ไฉ้เซิง : อย่างไรเรียกว่าดำเนินปฏิบัติทั้ง 3 ทานไปพร้อมกัน ?

โพธิสัตว์ : ดำเนินปฏิบัติทั้ง 3 ทานไปพร้อมกัน  ก็คือ  อามิสทาน  ธรรมทาน  และอภัยทาน  ทำถึงพร้อมแล้วทั้ง 3 ทาน

ไฉ้เซิง : ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ?

โพธิสัตว์ : เพราะว่าการบริจาคทรัพย์สินเงินทอง คือ อามิสทาน  การใช้หนังสือธรรมะเล่มนี้มาฉุดช่วยคน ก็คือ ธรรมทาน  ในธรรมกาลยุคท้าย  เวไนยเขลาหลงมาอย่างยาวนาน  หากอาศัยหนังสือที่หลวนเหมินประพันธ์มาเป็นพลังในการปกป้องพุทธธรรม  นั่นก็คือ  อภัยทาน  นี่ก็คือการดำเนินปฏิบัติทั้ง 3 ทานไปพร้อมกัน  พึงรู้เถิดว่าหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ประพันธ์เสร็จจะสามารถฉุดช่วยสาธุชนชายหญิงที่มีบุญสัมพันธ์กลับคืนแดนสุขาวดีได้จำนวนมาก ดังนั้นบุญกุศลจึงมากมายมหาศาล

ไฉ้เซิง : แต่ว่ามีคนที่นับถือศาสนาพุทธส่วนหนึ่งต่างบอกว่าพวกเราเป็นพวกนอกรีต

โพธิสัตว์ : นอกรีตก็ยังดีกว่าพวกไร้ธรรม  เชื่อเรื่องงมงายก็ยังดีกว่าไม่เชื่อ  เพราะถึงแม้ว่าพวกนอกรีตจะไม่ได้เข้าใจธรรมะอย่างถ่องแท้  แต่ก็ยังพอมีหลักธรรมอยู่ในใจบ้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพวกนอกรีตสามารถปกป้องพุทธธรรมได้  อย่างนี้ก็ไม่ใช่พวกนอกรีตแล้ว  ส่วนพวกไร้ธรรมนั้นต่างกัน  เพราะพวกไร้ธรรมก็คือพวกที่กำเริบเสิบสานไม่เกรงกลัวกฎหมาย  ไม่เกรงกลัวอาญาสวรรค์  ไม่สนใจทั้งกฎหมายและศีลธรรมใดๆ คนประเภทนี้ก็จะเที่ยวก่อกรรมทำชั่วอย่างเหิมเกริม

ไฉ้เซิง : งั้นขอเรียนถามพระโพธิสัตว์  เพราะอะไรเชื่อเรื่องงมงายถึงดีกว่าไม่เชื่อล่ะครับ ?

โพธิสัตว์ : ความเชื่อความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญก้าวแรกในการเข้าถึงธรรม  เป็นธรรมเบื้องต้นที่จะทำให้บุคคลได้ประกอบคุณงามความดีอันเป็นกุศลขึ้นมา  ความเชื่อความศรัทธาจึงเป็นมารดาแห่งบุญกุศล  ดังนั้นคนที่มีความเชื่อความศรัทธา ก็จะรู้จักทำบุญทำทาน สร้างบุญสร้างกุศล  อุทิศทุ่มเทเสียสละตนช่วยเหลือผู้อื่น  แต่คนที่ไม่มีความเชื่อความศรัทธานั้นต่างกัน  เพราะว่าพวกเขาไม่เชื่อในเรื่องเหตุต้นผลกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด  ไม่เชื่อว่าเมื่อตายแล้ววิญญาณไม่มีวันดับสูญ  ดังนั้นเพื่อแสวงหาความสุขทางเนื้อหนังจึงลุ่มหลงในรูปลักษณ์วัตถุภายนอก  ทำเรื่องที่โหดร้ายสูญสิ้นจิตมโนธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสนองตัณหาความละโมบโลภอยากของตัวเอง คนที่ไม่มีความเชื่อก็มักจะลงเอยแบบนี้

ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์ที่เมตตาชี้แนะหลักธรรมเหล่านี้

โพธิสัตว์ : เมธีไม่ต้องมากพิธี พระอมิตาภพุทธเจ้าของพวกเรารู้ว่าเจ้ายอมอุทิศทุ่มเทเสียสละทุกสิ่ง  มีความพากเพียรบากบั่นอย่างถึงที่สุด เพื่อที่จะนำพุทธธรรมและหลักคุณธรรมเผยแพร่ประกาศออกไปให้กว้างไกล นี่ก็คือจิตวิญญาณของพระโพธิสัตว์

ไฉ้เซิง : พระโพธิสัตว์กล่าวชมเกินไปแล้ว  ผู้น้อยเพียงแค่ทุ่มเทแรงกายแรงใจส่วนหนึ่งเพื่อเป็นสะพานให้คนบนโลกนี้  วันนี้สามารถเป็นผู้ปูทางให้ศาสนาพุทธ  ผู้น้อยรู้สึกโชคดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

โพธิสัตว์ : เอาล่ะ ! วันนี้เวลาดึกแล้ว  เมธีเจ้านั่งบัลลังก์บัวให้ดี  ให้เราคุ้มครองเจ้ากลับไปส่งที่สำนักเถอะ

ไฉ้เซิง : ขอบคุณพระโพธิสัตว์เมตตา  ผู้น้อยนั่งบัลลังก์บัวเรียบร้อยแล้ว  ขอเชิญพระโพธิสัตว์ออกเดินทางได้

โพธิสัตว์ : ถึงเซิ่งเทียนถังแล้ว  ไฉ้เซิงลงจากบัลลังก์บัว  วิญญาณกลับเข้าร่าง


ประวัติพระอรหันต์จี้กง ตอนที่ 6

เมื่อปลงเสียได้ก็จากไป เมื่อวางไม่ลงก็กลับมาใหม่

1654918052.jpg
mindcyber
2 years ago

คำอนุโมทนาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

1654918052.jpg
mindcyber
4 months ago
ก๋วยเตี๋ยวห่อกะหล่ำปลี

ก๋วยเตี๋ยวห่อกะหล่ำปลี

1654918052.jpg
mindcyber
2 years ago

เทพเมิ่งผอ

1654918052.jpg
mindcyber
5 months ago

ครั้งที่ 19 ตอนท่องตำหนักวิญญาณสัตว์สี่ชีวิตคืนชีพ

1654918052.jpg
mindcyber
5 months ago