มีคำกล่าวว่า “คนโง่เท่านั้นที่ทำทุกข์ให้เป็นทุกข์ แต่คนฉลาดนั้นเมื่อเจอทุกข์จะทำให้เกิดสุข” เวลาศิษย์ทุกข์จะทำอย่างไรให้บังเกิดสุขอาจารย์ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าสมมติป่วยเป็นความทุกข์ เวลาศิษย์ป่วยทำอย่างไรถึงจะมีสุข เวลาป่วยอย่างน้อยทำให้เรารู้ว่า เพราะทำงานหนักถึงได้ป่วยอย่างนี้คราวหน้าจะพักผ่อน คราวหน้าจะไม่ทำงานหนักมากกว่านี้ คิดได้อย่างนี้เป็นการระวังตัวเอง และเป็นการทำให้เราไม่ทำแบบนั้นอีก เรียกว่าเอาความทุกข์ความผิดพลาดเป็นบทเรียนไม่ทำผิดซ้ำโทษตัวเราเองว่าประมาทเลินเล่อไม่อย่างนั้นลูกเราคงไม่ป่วยแบบนี้ถ้าดูแลดีกว่านี้เขาคงไม่ป่วยแบบนี้ หรือไม่ถ้าเราดูแลตัวเองดีกว่านี้ร่างกายเราคงแข็งแรง คงไม่เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ อย่างนี้จึงมีคำกล่าวว่าหากมีทุกข์แต่เรารู้จักรับมือกับความทุกข์ ทุกข์นั้นจะไม่สร้างทุกข์ให้กับตัวเรา แต่จะเปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุข และเป็นบทเรียนที่มีคุณค่า
ทุกๆ คนมีความสุขอยู่ในตัว มีความสุขเพราะเราสามารถปลงได้ทุกขณะ ปล่อยวางได้ทุกขณะ นี่เป็นที่สุดแห่งทุกข์ที่สุดของทุกข์ ของอาจารย์ไม่มีทุกข์ แต่ที่สุดของทุกข์ของศิษย์นั้น ในจิตใจเสี้ยวหนึ่งยังมีความทุกข์อยู่ แต่เพราะมีความทุกข์เป็นของตนนี้เอง จึงเข้าถึงที่สุดของทุกข์ได้ถ้าหากไม่มีความทุกข์เป็นสิ่งรองรับก็จะเข้าถึงที่สุดของทุกข์ไม่ได้ศิษย์คงไม่สามารถเข้าถึงที่สุดของทุกข์ได้ทุกๆ เวลา ทำได้เพียงชั่วขณะก็ดีแล้ว ถ้าเข้าถึงที่สุดของทุกข์ได้ก็จะเป็นสุขเอง หมั่นเพียรบำเพ็ญจนเข้าถึงที่สุดของทุกข์โดยไม่มีความทุกข์มาแปดเปื้อนให้ถึงที่สุดของทุกข์ที่ไม่มีความทุกข์เลย นั่นก็คือ การเข้าสู่ภาวะพุทธะอริยะ
พระอาจารย์จี้กง
สถานธรรมฉือเหยริน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
8 มิถุนายน 2546 และที่
สถานธรรมถงซิน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
15 ธันวาคม 2545